ยามค่ำคืน หากคุณมีโอกาสเดินเข้าร้านฟ้าสต์ฟู้ดที่เปิดบริการ 24 ชั่วโมงอย่าง ‘แมคโดนัลด์’ ที่ฮ่องกง จีน ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ คุณอาจจะไม่ได้พบแค่คนที่เข้ามาทานแฮมเบอร์เกอร์ หรือไก่ทอดเท่านั้น แต่ยังพบกับ ‘คนไร้บ้าน’ ที่กำลังหลับใหลอยู่ภายในร้าน ซึ่งคนกลุ่มนี้จะถูกเรียกว่า ‘McRefugees’ หรือ ‘McSleepers’
McRefugees เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายที่สุดใน ‘ฮ่องกง’ เมืองที่ประสบปัญหาช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างคนรวย-คนจน จากตัวเลขในปี 2016 ที่เพิ่งเปิดเผยออกมา พบว่า ฮ่องกงมีประชากรมากถึง 20% หรือกว่า 1.35 ล้านคน ที่มีรายได้ต่ำกว่า ‘เส้นแบ่งความยากจน’ นอกจากนี้ยังครองแชมป์ เมืองที่ราคาอสังหาริมทรัพย์แพงที่สุดในโลกถึง 7 ปีซ้อน
ผมลองจินตนาการเล่น ๆ ดูว่า ถ้าต้องการซื้อห้องสตูดิโอเล็ก ๆ ใจกลางเมืองฮ่องกงขนาด 25 ตารางเมตร ซึ่งมีราคาเฉลี่ยปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ ตารางเมตรละ 202,330 ดอลล่าร์ฮ่องกง ผมต้องมีเงินถึง 5,058,000 ดอลล่าร์ฮ่องกง หรือประมาณ 21,104,000 บาท เลยทีเดียว ขนาดห้องแคบ ๆ เท่าแมวดิ้นตายเพียง 15 ฟุต ที่เรียกว่า ‘บ้านโลงศพ’ ยังมีค่าเช่าถึงเดือนละ 1,800-2,500 ดอลล่าร์ฮ่องกง พอเห็นแบบนี้แล้ว ไม่แปลกใจเคยใช่ไหมครับ ที่จำนวนของ McRefugees ในฮ่องกงมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
McRefugees ให้เหตุผลที่เลือกร้านแมคโดนัลด์เป็นที่หลับนอนชั่วคราวว่า ที่นี่สะอาด ปลอดภัย ฟรี และเปิดตลอด 24 ชั่วโมง McRefugees ส่วนมากจะเป็นผู้สูงวัย อายุประมาณ 40-65 ปี ที่อยู่ ๆ วันหนึ่งต้องเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจ ครอบครัว หรือสุขภาพ บางคนเคยมีงาน มีเงิน มีธุรกิจ แต่ถูกโกงบ้าง เจอพิษเศรษฐกิจบ้าง บางคนตกงานกะทันหันเพราะเกิดอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย บางคนป่วยเรื้อรังจนไม่สามารถทำงานประจำได้ บางคนถูกไล่ออกจากบ้าน บางคนไม่อยากเป็นภาระแก่ครอบครัว บางคนแก่แล้วแต่ไม่มีครอบครัวดูแล ฯลฯ
“คุณอาจจะคิดว่าผมโคตรขี้เกียจ มันไม่ใช่เลย ผมต้องการทำงาน แต่เพราะอายุของผม ทำให้ไม่สามารถหางานได้”
นี่คือความรู้สึกของชายวัย 68 ปี หนึ่งในผู้ที่อาศัยร้านแมคโดนัลด์เป็นที่พักพิงยามค่ำคืน ก่อนหน้านี้เขาเคยเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย มีเงินเดือน 10,000 ดอลล่าร์ฮ่องกง (ประมาณ 42,000 บาท) แต่เพราะโรคหลอดเลือดสมองทำให้ต้องออกจากงาน แต่เมื่ออาการดีขึ้นก็อายุมากเกินกว่าที่นายจ้างต้องการแล้ว
McRefugees มีมานานหลายปีแล้ว แต่ได้รับความสนใจจากทั่วโลกเมื่อปี 2015 จากกรณีที่พบหญิงไร้บ้านอายุ 56 ปี เสียชีวิตในร้านแมคโดนัลด์ และนานเกือบ 24 ชั่วโมงถึงมีคนสังเกตว่าเธอเสียชีวิต จากเหตุการณ์นี้ทำให้ทางแมคโดนัลด์ ฮ่องกง ออกมาแสดงความเสียใจ และกล่าวว่า “เรายินดีต้อนรับทุกชีวิตที่เดินเข้ามาในร้านแมคโดนัลด์ตลอดเวลา” พร้อมกับตั้งเป้าหมายว่า “จะอำนวยความสะดวกและดูแลใส่ใจลูกค้า ที่เข้ามาอยู่ในร้านเป็นเวลานาน ไม่ว่าเหตุผลส่วนตัวของพวกเขานั้นคืออะไรก็ตาม และจะพยายามรักษาสมดุลเพื่อให้มั่นใจว่า ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการทุกคนจะรับประทานอาหารอย่างเพลิดเพลิน”
Society for Community Organisation (SoCO) รายงานตัวเลขว่า คนไร้บ้านในฮ่องกงที่อาศัยท้องถนนเป็นที่พักพิงมีราว 1,600 คน ส่วนประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คาดการณ์ว่ามีคนไร้บ้านทั่วประเทศราว 30,000 คน และจากการสำรวจเชิงลึกในปี 2016 พบว่าในกรุงเทพฯ มีคนไร้บ้านราว 1,300 คน
อ่านมาถึงตรงนี้แล้วหลายคนอาจกำลังสงสัยว่า อ้าว…แล้วทำไมคนไร้บ้านไม่ทำงานเพื่อหาเงินมาเช่าบ้านอยู่ล่ะ? ความจริงแล้วพวกเขาไม่ได้นั่ง ๆ นอน ๆ ไปวัน ๆ อย่างที่หลายคนเข้าใจนะครับ ร้อยละ 90 ของคนไร้บ้านทำงานพาร์ทไทม์หรืองานชั่วคราว แต่เพราะรายได้ไม่แน่นอน และเงินที่ได้รับไม่เพียงพอที่จะเช่าบ้าน โดยเฉพาะฮ่องกงที่บ้านราคาแพงมาก ขนาดคนทั่วไปมีงานประจำยังต้องกุมขมับ บางคนหมดเงินไปกับการรักษาอาการป่วยเรื้อรัง เพราะเข้าไม่ถึงสิทธิการรักษาพยาบาล อีกทั้งการหางานประจำก็เป็นเรื่องยาก สำหรับคนที่ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ผู้สูงวัย ผู้ป่วย หรือผู้พิการ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม พวกเขายังมีความหวังว่า สักวันจะกลับมามีงานทำและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
McRefugees เป็นภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของโลกทุนนิยมเป็นอย่างดี และจำนวนคนไร้บ้านก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะหลายประเทศในเอเชีย ที่กำลังก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัย ไม่แน่ว่าวันข้างหน้าในอนาคต ผมหรือคุณอาจจะกลายมาเป็นคนไร้บ้านก็ได้ใครจะรู้
ดังนั้นผมอยากชวนให้เราทุกคนทิ้งมายาคติเกี่ยวกับ ‘คนไร้บ้าน’ ที่อาศัยซอกหลืบข้างถนนเป็นที่พักพิง ว่าเขาเหล่านั้นเป็นคนจรจัด น่ากลัว สกปรก หรือขี้เกียจ เปลี่ยนมามองพวกเขาด้วยสายตาที่เข้าใจ ในฐานะที่เขาเพื่อนมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเท่ากับเรา และเปิด ‘โอกาส’ ให้เขาได้พัฒนาตัวเอง เพื่อกลับมามีที่ยืนอีกครั้ง เหมือนกับที่แมคโดนัลด์ในหลายประเทศให้โอกาสกับ McRefugees
credit image: https://www.nbcnews.com